If video killed the radio star, did Gaga's "ARTPOP" killed Pop Art?
Lady Gaga
ARTPOP
7.5/10
Andy Warhol เคยตั้งชื่อสตูดิโอของตัวเองว่า The Factory โรงงานผลิตศิลปะและแหล่งซ่องสุมของศิลปินและเซเลปชื่อกระฉ่อนแห่งโลกยุคโพสโมเดิร์น ที่ให้กำเนิดวงดนตรีอย่าง The Velvet Underground ดารานางแบบอีกเพียบอย่าง Edie Sedgwick เป็นต้น ไฉนเลยจะไม่ให้พูดถึงกระป๋อง Campbell Soup อันลือเลื่องที่กลายมาเป็นผลงานที่ใช้จำกัดความคำว่า Pop Art ศิลปะแขนงที่จับเอาความอาร์ตและความแมสมาอยู่ในบรรทัดเดียวกัน มันแหวกแนวขนาดไหนก็ลองนึกดูซิว่า (ในสมัยนั้น) ถ้ามีใครเอาปลากระป๋องตราสามแม่ครัวมาแขวนจัดแสดงในแกลเลอรี่ แถมยังพิมพ์ออกมาได้ทีละเป็นพันๆแผ่น เราจะยังเรียกสิ่งนั้นว่าศิลปะอยู่หรือเปล่า?
หลายทศวรรษต่อมาจึงกำเนิด Lady Gaga ผู้ที่เคลมตัวเองไว้ในซิงเกิ้ล Applause ว่า "Art's in Pop, Culture, in me" ศิลปินหญิงที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในโลก และครึ่งหนึ่งของโลกที่เอ่ยชื่อเธอมักจะพูดถึงในลักษณะสรรเสริญ ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของคนที่ได้ยินชื่อเธอมักจะกลอกตาด้วยความหมั่นไส้ และคนเหล่านั้นจะยิ่งเบะปากเป็นทรงโค้งรัศมีโปรเจกไตล์เมือได้ยินว่าเธอตั้งชื่ออัลบั้มล่าสุดว่า
ARTPOP
คำถามว่า Lady Gaga และ Andy Warhol มีความเหมือนต่างกันอย่างไร เป็นคำถามที่บุคคลประเภทที่สองจะตอบอย่างเหนื่อยหน่ายว่า Lady Gaga ยังไม่ควรไปเทียบชั้นกับใครทั้งสิ้น แต่ในความจริงแล้วทั้งสองมีใจความสำคัญเหมือนกันอยู่หนึ่งอย่างคือ ทั้งคู่ต่าง "จงใจ" วางตัวเองอยู่ในขั้วตรงข้ามกับความวิจิตรบรรจงและความลึกล้ำทั้งปวง และผลักดันให้ผลงานของตัวเองเข้าถึงผู้คนกระแสหลักให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยไม่สนว่ามันจะถูกดูแคลนหรือถูกลดทอนคุณค่าไปอย่างไรบ้าง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมกาก้าถึงมาได้ไกลขนาดนี้ และทำไมภาพพิมพ์รูปมาริลีน มอนโรยังมีประดับอยู่ตามร้านกาแฟใกล้บ้านคุณ
โอเค เราเข้าใจว่าการให้ Jeff Koons มาออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้ ร่วมงานกับ Marina Abramovic และ Inez & Vinoodh รวมถึงดีไซน์เนอร์จากห้องเสื้ออีกครึ่งโลกที่ลงมือตัดชุดให้นางใส่ในการปรากฎตัวแต่ละครั้ง พร้อมทั้งยังเอ่ยถึง Botticelli อยู่เป็นระยะๆ คือส่วนที่เราควรจะเรียกว่า ART แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใดคือภาคดนตรี POP ในฐานะสินค้าที่ผ่านการประโคม ลดแลกแจกแถมกันมาครึ่งปีนี่ต่างหาก ที่จะชี้เป็นชี้ตายให้กับอัลบั้มที่มีคนรอคอยมากที่สุดของปีนี้ แม้ใครๆ ก็รู้ว่าเพลงของเธอไม่เคยประหลาดล้ำเหมือนลุ๊คการแต่งตัวเลย
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับภาคโปรดิวเซอร์ของอัลบั้มคือ นอกจากที่ก้าจะยังคงเส้นคงว่ากับ DJ White Shadow ที่เคยร่วมงานกันใน Born This Way แล้ว เธอยังหันไปใช้บริการโปรดิวเซอร์หนุ่มๆ วัยแรกแย้ม เช่น Zedd ดีเจที่เคยฝากผลงานอย่าง
Clarity ที่ดังระเบิดไปเมื่อปีที่แล้ว และ
Madeon ดีเจหนุ่มน้อยวัย 19 ปี มาร่วมลงแรงในหลายเพลงของอัลบั้มนี้ด้วย โดยเนื้อเพลงทั้งหมดในอัลบั้มผ่านปลากปากกาของสาวก้าเจ้าตัวล้วนๆ ทั้งหมดนี่รวมกัน บวกกับ reference จากศิลปินยุคก่อนหน้าอีกนิดหน่อย จับยัดลงไปในเครื่องปั่นโรยกากเพรชสีชมพู ออกมาเป็น 15 เพลงจากอัลบั้มป็อปแดนซ์อลังการดาวล้านดวง
เพลงในอัลบั้มส่วนใหญ่มักจะไม่พูดถึงประเด็นความสัมพันธ์เหมือนศิลปินหญิงทั่วไป ก้ามักจะแสดงความสนใจส่วนตัวเรื่องแฟชั่น แฟนเพลง การเดินทาง หรือไม่ก็หลุดไปอวกาศไม่ก็เรื่องเซ็กซ์โจ่งครึมไปอย่างที่เห็น ตัวอย่างเช่น
Sexxx Dreams ที่ถึงแม้จะไม่ได้เซ็กซี่เท่าที่ชื่อเพลงพยายามบ่งชี้ แต่ก็โดดเด้งด้วยเบสไลน์ตอนท้ายเพลงที่ทำให้นึกถึงงานเก่าของ Prince ได้ไม่ยาก หรือ
Venus ที่ไม่ได้ฟังดูอวกาศหลุดโลกมากมาย แต่เป็นเพลงป็อปลงตัวในจังหวะกลางๆ ฟังง่าย เหมาะสมสำหรับการตัดเป็นซิงเกิ้ลอย่างยิ่ง //สำหรับผู้ที่เคยได้ยิน
Aura เวอร์ชั่นก่อนสำเร็จมาแล้ว ต้องขอบอกว่า Aura เวอร์ชั่นอัลบั้มนั่นคือความผิดหวัง เพราะนางกลัว Zedd เด็ดกว่าหรือไรก็ไม่ทราบจึงตัดท่อนเทคโนตอนท้ายออกเกือบหมด แถมยังอัดเสียงใหม่ตัดเสียงป่วงๆ ตอนแรกออกเกลี้ยง แนะนำให้หาเวอร์ชั่นเก่ามาฟังจะดีกว่า ถ้าอยากได้อารมณ์บ้าๆ บวมๆ เหมือนได้ยัย Courtney Love ตอนเมายามาร้องให้ฟังพร้อม Spanish Guitar และซาวน์แบบ EDM แดนซ์กระจายสไตล์ Zedd
|
"I'm the rich bitch I'm the upper class!" |
แรดที่สุดต้องยกให้
Donatella ที่แต่งไว้อวยเพื่อนสาวต่างวัยประจำห้องเสื้อ Versace สาธยายชีวิตสุด fabulous ชะนีไฮโซในท่อนฮุคติดหูเกินคำบรรยาย หลับตาเห็นตุ๊ดจำนวนมากกรีดกรายบนแคทวอล์คด้วยท่าขาไขว้บนรองเท้าส้นเข็มสูง 8 นิ้วของ Thierry Mugler //
Do What You Want อาจฟังดูเหมือนเพลงที่อีหมีเขี่ยออกจากอัลบั้ม Butterfly ถ้าไม่ได้เสียงนุ่มๆ ของ R Kelly เข้ามาช่วยเพลงนี้อาจเสียศูนย์ไปไม่น้อย ท่อนที่ร้องว่า "If you let me go, I would fall apart" ทำให้นึกถึงความสัมพันธ์ระหว่างกาก้าและนักวิจารณ์ประมาณว่าชั้นยอมให้เธอด่า (do what you want) ดีกว่าให้จะให้เธอจะทอดทิ้งชั้นไป // ส่วน
Manicure ยังคงหนีไม่พ้นเรื่องผู้ชายและความงาม จังหวะตบหน้าตักเชียร์ลีดเดอร์แบบนี้ทำให้นึกถึง Hollaback Girl เวอร์ชั่นมีเท่าไหร่ใส่ไม่ยั้ง และ
Swine เพลงเนื้อหาแรงๆ ที่บิ้วให้ตายก็ไม่ขึ้นเพราะภาคดนตรีเหมือนยังทำไม่เสร็จ
แม้
Gypsy จะตวงตามสูตร The Edge of Glory มาแบบช้อนต่อช้อน แต่ก็มีดีที่เนื้อหาที่ถอดออกมาจากชีวิตจริงได้อย่างกินใจ ว่าด้วยคนที่ชีวิตต้องเดินทางบ่อยเสียจนเหลือแต่ความอ้างว้าง เป็นหนึ่งในเทคนิคที่กาก้าใช้เรียกศรัทธาในฐานะนักดนตรีกลับมาได้สำเร็จทุกครั้งด้วยการนำเพลงป็อปแดนซ์มาถอดรูปเหลือเพียงเสียงเปล่าๆ กับเปียโน เพื่อโชว์ศักยภาพการร้องเพลง ฝีมือการแต่งเพลงและการเล่นเปียโนที่อวดโลกได้อย่างไม่อายใคร
ถึงแม้ว่า ARTPOP จะติดป้ายให้ตัวเองว่ามันคือ pop trash แต่ก็ไม่ได้ฟังง่ายย่อยง่ายเหมือน The Fame ในอัลบั้มแรก เพราะ ARTPOP มีความจงใจบางอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่ากาก้าต้องการผลักดันอัลบั้มไปในทิศทางที่ไม่เคยมีคนไปมาก่อน นั่นคือการดันให้เพลงมันขยะเสียจนทะลุออกจากกฎเกณฑ์กลายเป็นความล้ำในรูปแบบหนึ่งที่เธอน่าจะเรียกมันว่า ART ได้ด้วยซ้ำ ในแบบเดียวกับที Andy Warhol ทำกับผลงานของเขา ก็เพื่อที่จะแสดงความย้อนแย้งของรสนิยมและทำลายกฎเกณฑ์มาตรวัดเก่าๆ ที่ใช้ชี้ว่าสิ่งใดคืออาร์ต สิ่งใดไม่ใช่อาร์ต เพราะฉะนั้นเพื่อตอบคำถามว่า ARTPOP kills Pop Art หรือไม่ ก็ต้องตอบได้เลยว่า ไม่ เพราะมันคือรูปแบบหนึ่งของ pop art ที่คงไม่ต่างกับเป็ดยางสีเหลืองขนาดยักษ์ของ Florentijn Hofman ที่ลอยอยู่ในอ่าวฮ่องกงเมื่อต้นปี มันสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับคนดูที่ผ่านไปผ่านมาในลักษณะอาจจะดูฉาบฉวย แต่ถ้าอย่างน้อยมันมีศักยภาพพอที่ทำให้เรารู้สึกถึงมันได้ เราก็คงไม่กล้าบอกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ศิลปะหรอกจริงไหม
และด้วยคุณภาพของอัลบั้มแล้วเราอาจพูดไม่ได้เต็มปากว่าอีกสิบปีข้างหน้า Rolling Stones จะจัดให้เป็น 100 อัลบั้มแห่งทศวรรษ แต่สำหรับตัวกาก้าแล้วนี่คือผลงานที่ใช้เป็นหลักฐานว่าเธอไม่ได้อยู่ในขาลง แถมยังพุ่งทะยานขึ้นไปอีกด้วยซ้ำ สำหรับคนฟังอย่างเรา นี่คืออัลบั้มที่ฟังสนุกดีไม่น้อย เป็นผลงานขยะชิ้นโบว์แดงที่สามารถดึงผู้ชมมาเต็มสเตเดียมได้ในเวลาชั่วข้ามคืน