ทำไมศิลปินหญิงต้องแก้ผ้า?
คำถามเกิดเมื่อเห็นลุ๊คใหม่ของยัยเหมย ไมลี่ ไซรัส ออกตัวโปรโมทอัลบั้มใหม่สลัดคราบนักร้องบ้านนาฮาน่า มอนทาน่าเสียจนไม่เหลือเค้าเดิม พร้อมประกาศว่า
"ฉันอยากจะให้โลกรู้ถึงตัวตนที่ฉันเป็น"
แต่สงสัยไหมว่าการแสดงออกถึงตัวตนมันเกี่ยวอะไรกับการเปลี่ยนลุ๊คสู่ความเซ็กซี่ตามนักร้องรุ่นพี่ไปติดๆ หรือมันเป็นกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว เพื่อจะบอกโลกว่าฉันอายุ 19 แล้ว เป็นผู้ใหญ่แล้ว มีนม และวุฒิภาวะมากพอ เลยต้องแต่งตัวแรงๆแล้ว ราวกับว่าการที่ถูกจับตัวเป็นเด็กนั้นเป็นเรื่องน่าอดสูที่ต้องทนขังตัวเองอยู่ลุ๊คดาราดิสนีย์แสนจึดชืด
ทำไมต้องแก้ผ้า...นั่นซิทำไม?
ทำไมมาดอนน่าต้องแก้ผ้าโทงๆ โบกรถอยู่ริมถนน (เปลื่อยหมดจริงและไม่ได้เป็นหรี่)
ทำไมคริสตินา อากีเลร่าจะต้องแต่งตัวเป็นสาวร่านคันคะเยอ ในเอ็มวี Dirrty
ทำไมชุดนักเรียน (ที่ผิดระเบียบอย่างหนัก) ในเอ็มวี Baby One More Time ถึงทำให้หอกเป็นเซ็กซ์ซิมโบล
ทำไมรีฮานน่าถึงออกเอ็มวีเสื่อมๆ อย่าง S&M ทั้งๆที่รู้ว่าจะโดนสังคมรุมประณาม
ทำไมเสื้อผ้าถึงน้อยชิ้นลงเรื่อยๆ ทำไมกระโปรงถึงสั้นลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ยุค 80s เป็นต้นมา
ทำไมทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นสิ่งที่เห็นกันคุ้นตาในวงการเพลงป็อป?
คำถามเหล่านี้ มีคำตอบอยู่ไม่กี่อย่างที่หาดูได้ทั่วไป คือเพราะเซ็กส์มันขายได้ไง เพราะนักร้องพวกนี้มันไม่มีหัวคิดไง มันไม่มีความสามารถไง ต้องการเรียกร้องความสนใจไง (พูดไม่ทันขาดคำคนเหล่านั้นก็เปิดเอ็มวีดูกันอย่างเมามัน ในขณะที่ปากก็กล่าวบูชาศิลปินอย่างอเดลอย่างไม่หยุดปาก) แต่ก็น่าแปลกที่ยิ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปในทำนองนี้ไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นความย้อนแย้งมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเห็นชื่อเสียงที่ไหลมาเทมา ความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่อง อัลบั้ม Stripped ของติ๊นา อันเป็นที่สถิตของเพลง Dirrty และเลือกที่จะนำเสนอภาพลักษณ์ทางเพศอย่างตรงไปตรงมา ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ สาขาอัลบั้มป็อปยอดเยี่ยม Lady Marmalade คัมภีร์แห่งการเป็นโสเภณีที่ดี ทั้งกาย วาจา และใจ ได้รางวัล Best Pop Collaboration จากแกรมมี่ไปครอบครอง
(เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาดในประเทศที่ผู้คนมีศีลธรรมอันดีงาม สูงส่ง และเปราะบาง)
...และอย่าลืมว่านี่เป็นเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างเท่านั้น
เพราะฉนั้นข้อถกเถียงที่ว่า นักร้องไม่มีความสามารถจึงต้องแก้ผ้า จึงถือว่าไม่จริงเสมอไป แต่คำถามของเรายังไม่จบ ทำไมต้องแก้ผ้า? เพื่อเรียกร้องความสนใจโดยการช็อคประชาชน (Shock Value) เป็นหนึ่งสันนิษฐานที่น่าสนใจข้อต่อไป เจ๊แม่มาดอนน่าเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดสำหรับข้อนี้ เธอคือราชินีแห่งวงการที่สามารถหอบสังขารไม่เที่ยงไว้ในวงการได้ยาวนานถึงเกือบสามสิบปี เธอทำได้อย่างไร คำตอบก็คือ Shock Value ที่ว่านี่แหละ มียุคหนึ่งที่มาดอนน่ากับความอื้อฉาวมักมาเป็นของคู่กันเสมอ ครั้งหนึ่งเธอเคยนำเสนอภาพไม้กางเขนเผาไฟในเอ็มวี Like A Prayer ที่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ไปถึงกลุ่มต่อต้านคนผิวสีที่ชื่อว่า KKK ทำให้ Like A Prayer กลายเป็นหนึ่งเพลงที controversial ที่สุดไม่ว่าจะพูดอีกซักกี่ครั้ง ไหนเล่าจะซิงเกิ้ลยุคแรกที่เปรียบเทียบความรักครั้งแรกเหมือนการเสียตัวในเพลง Like A Virgin พร้อมกับการแสดงใน MTV ปี 1983 ที่หล่อน (ที่ในขณะนั้นเป็นเด็กอายุี่ยี่สิบต้นๆ) ใส่ชุดแต่งงานนอนกลิ้งเกลือกอยุ่กับพื้นเวที วันต่อมาชื่อของพระแม่มารีถูกให้ความหมายใหม่กลายเป็นชื่อของสาวร่านสวาทที่มีชื่ออยู่ในหนังสือพิมพ์ทุกแผงทั่วมุมถนน
แต่แล้วคำว่า Shock Value ก็ไม่เวิร์คเสมอไป เมื่อเข้าสู่ยุค 1990 เธอมีชื่อเสียงมากพอที่จะทำตามใจต้องการ และสิ่งที่เธอต้องการจะนำเสนอมากที่สุดในตอนนั้น คือการเป็นผู้หญิงคาวโลกีย์ ใจแตกที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เอาซี่! เจ้เลยตัดสินใจถ่ายโฟโต้บุ๊กปกเหล็กที่มีชื่อเรียบๆ แรงๆ ว่า SEX BOOK ด้านในเต็มไปด้วยภาพเปลือยของเจ้าตัว กับดาราดังๆมากมายอย่าง นาโอมิ แคมเบลล์ และดาราหนังโป๊เกย์อีกมากมาย (ปัจจุบัน SEX BOOK จัดว่าเป็นหนังสือศิลปะแนว fetish เล่มหนึ่งที่ราคาแพงและหายาก เหมาะกับการตั้งไว้ที่ชุดรับแขกอย่างยิ่ง) อย่างไรก็ดีภาพลักษณ์แรงๆ สุดโต่งขนาดนี้ ก็สร้างชื่อเสียกระฉ่อย เป็นที่ไม่ปลาบปลื้มของประชาชีไปไม่น้อย นักวิจารณ์ข่าวบันเทิงรุมถล่มยับไม่ยั้งมือ แฟนเพลงรวมตัวกันเผาภาพของเธอกันยกใหญ่ และส่งผลต่อรายได้อัลบั้ม Erotica ที่มีเนื้อห้าข้องเกี่ยวกับ sexual fantasy ของเธอได้พินาศย่อยยับไปในพริบตา มาดอนน่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวจากยุคเสื่อมถึงเจ็ดปีกว่จะมีผลงานใหม่ที่ผู้คนยอมรับได้
แต่สิ่งที่มาดอนน่าได้สร้างไว้ให้กับสังคมจริงๆ ไม่ใช่หนังสือโป๊ แต่กลับเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางเพศอย่างเปิดเผย เธอขยายกรอบ free speech ด้วยการบอกว่า ฉันจะไม่ขอโทษอะไรทั้งนั้น เรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องวิปริต ไม่จำเป็นต้องเขินอาย ทุกคนมีความต้องการทั้งชายและหญิง การที่เราพยายามจะมองมันเป็นเรื่องน่ารังเกียจต่างหากที่เป็นเรื่องที่เราสร้างมันขึ้นมา ถือว่าเป็น shock value ที่ช็อคจริงอะไรจริง แต่ไม่ได้สร้างผลดีอะไรให้กับตัวเองเลย แต่กลับเปิดโลกทัศน์ให้คนอีกมากมาย โดยเฉพาะศิลปินรุ่นหลังๆ ให้มาทำความรู้จัก ทำความเข้าใจกับ ศิลปะต้องห้ามแขนงนี้กันเถอะ
เพราะฉนั้นเมื่อเราเข้าใจแล้วว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็จะเห็นว่าทำไมยิ่งโป๊มันถึงยิ่งมีคนสนใจ เพราะมันไปกระตุ้นความเป็น "คน" ในตัวคุณนั่นแหละ ลองนึกดูซิ ทำไมการแสดงในสมัยกรีก คนถึงมักจะใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นไปจนถึงไม่ใส่เลย?
|
เอ็มวีพลังหญิง Can't Hold Us Down ผลงานกำกับของ David LaChappelle ใช้เสื้อผ้าน้อยชิ้นเพื่อขับเน้นความเป็นหญิงออกมาต่อกรกับบุรุษเพศ |
ให้ลองนึกถึงคำว่า Sex Symbol คำนี้มันเกิดมาพร้อมกับโทรทัศน์ พร้อมกับยุคที่ภาพคนงามอย่างมาริลีน มอนโรจะถ่ายทอดสดข้ามทวีปได้ มันจึงเกิดคำนี้คือ สัญลักษณ์ทางเพศที่มีมูลค่าในตัวเองอย่างมหาศาล นักแสดงและนักเต้นผิวสีอย่าง Josephine Baker ที่ก้าวข้ามเรื่องชนชั้นและผิวสีก็กลายเป็นอีกหนึ่ง Sex Symbol ได้นั่นหมายความว่า ธรรมชาติเรื่องเพศของมนุษย์ไม่ได้รู้จักคำว่าแบ่งแยกผิวสีอะไรด้วยเลย และเมื่อเห็นว่าการมีพลังดึงดูดทางเพศนั้นสามารถทำเงินได้มหาศาล นักร้อง นักแสดง ตั้งแต่นักเต้นในย่านสลัม ไปจนถึงบรอดเวย์ซูเปอร์สตาร์ก็ต้องพกพาความเซ็กซี่ติดตัวมาด้วย เพราะว่า สิ่งนั้นหละคือ "อำนาจ" ที่ผู้หญิงคนหนึ่งในยุคที่การยอมรับความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องฝันเฟื้องจะพอมีได้
"There's only two types of people in the world, the ones that entertain and the ones that observe"
เนื้อเพลงที่คุ้นหูกันดีจากสาวหอกศรี บริทนีย์ สเปียรส์
มีความหมายว่าโลกนี้มีคนอยู่แค่สองประเภท คือผู้แสดงและผู้ชม
ซึ่งเราอาจจะตีความได้ว่านั่นคือลักษณะของเพศชายและเพศหญิง
และเราก็จะไม่ลังเลที่มอบให้ฝ่ายผู้หญิงคือฝ่ายเอนเตอร์เทน
เพราะเธอมีทั้งความเย้ายวน มีรูปลักษณ์ที่สวยงามและน่าจรรโลงกว่า
ในขณะที่เพศชายเป็นเพศที่แข่งแกร่งกร้านงาน น่าจะเหมาะกับการขัึบเคลื่อนสังคม เพราะฉนั้นหน้าที่เอนเตอร์เทนเนอร์จึงตกเป็นของผู้หญิงไปโดยปริยาย
ผู้หญิงมีอะไรล่ะที่ทำให้ผู้ชายยอมทำอะไรต่อมิอะไรได้ นึกถึงเพลง This Is a Man's World ของเจมส์ บราวน์ดูซิ นั่นคือคำพูดของผู้ชายคนหนึ่งที่บอกว่า แม้ว่าผู้ชายจะคิดค้นทุกอย่างบนโลกนี้แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนางในฝันของเขา (เราแอบคิดว่าอีเพลงนี้มันแอบ sexist นิดๆ ตรงที่มันไปตอกย้ำว่าผู้หญิงต้องเป็นช้างเท้าหลังมีหน้าที่คอยให้กำลังใจเงียบๆ) หรือง่ายๆ ก็ Locked Out of Heaven ของบรูโน่ มารส์ ที่เนื้อเพลงประมาณว่า อยากเหลือเกิ๊น อยากจะขึ้นเตียงกับคนคนนี้เหลือเกิ๊นน จนรู้สึกเหมือนกับว่าไม่ได้เจอหน้าแล้วเหมือนไม่ได้ขึันสวรรค์ นั่นแหละคืออำนาจที่ผู้หญิงมีเหนือผู้ชาย สิ่งที่ควบคุมความคิดและการกระทำของพวกเขาได้คือ "เซ็กซ์" และเรื่องที่อินทิเมตกว่านั้นคือ "ความรัก" นั่นเอง สิ่งนี้แหละที่เหล่าสตรีดีๆ ในยุคนั้นต้องมั่นใจว่าตัวเองมีแรงขับทางเพศเพียงพอเสมอ ไม่ใช่แค่ในการแสดง แต่มันเริ่มระบาดมาถึงการแต่งตัว การวางตัวในสังคมด้วย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ยุคหนึ่งของวงการดนตรี รวมไปถึงโชว์ต่างๆ จึงได้รับอิทธิผลมาจากแนวคิดตรงนี้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผู้หญิงถูกมองเป็นเพียงแค่ของเล่นทางเพศเท่านั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสารทีเดียว จนหลายๆ ต่อหลายสิบปีต่อมา มีการผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิสตรีมากขึ้นในทศวรรษที่ 70s ทำให้ผู้หญิงมีทีทางเป็นของตัวเองและสามารถทำอะไรต่อมิอะไรเป็นของตัวเองได้ รวมไปถึงการเป็น Rock Star ทำให้มีนักร้องร็อคหญิงชื่อดังอย่าง โจแอน เจ็ตต์หรือ เด็บบี้ แฮรรี่แห่งวง Blondie แต่ไม่วายที่พวกหล่อนก็ถูกมองว่าเป็นขาร็อคสุดเอ็กซ์ในสายตาผู้ชายอยู่ดี เฮ้อออออ
และมาจนถึงยุคปัจจุบันในยุคที่ผู้หญิงกับผู้ชายไม่ได้ด้อยไปกว่ากันเหมือนเมื่อก่อนแล้ว แต่รากอารยธรรมของการเป็นโชว์เกิร์ลมันยังอยู่น่ะซิ ผู้หญิงไม่ใช่วัตถุทางเพศอีกต่อไป เพราะผู้ชายหันไปฟังเพลงร็อค เพลงเมทัลที่ชายทำชายใช้กันหมดแล้ว วัฒนธรรมโชว์เกิรล์จึงเป็นเรื่องที่ตกค้าง เป็นเรื่องที่ฟังดูผู้หญิ๊งผู้หญิง จนมันเริ่มกลายเป็นเครื่องแบบของความเป็นผู้หญิงไปซะแล้ว ดูอย่างศิลปินที่มิดชิดสุดๆ อย่างอลิชา คียส์ซิ เมื่อถึงคราวที่จะต้องโชว์อะไรที่มันอลังการ สะดุดตาจริงๆ เธอก็ไม่ลืมที่จะต้องหยิบชุดแซ็กกระโปรงเลื่อมเพรชกรุยกรายเข้ามาใส่อย่างทันถ่วงที ไม่ใช่เพื่อจะเตะตาใคร แต่เพราะว่ามันเป็นเครื่องโชว์ที่ "เหมาะสม" กับ "การแสดง" ที่สุดแล้ว
เราจะเริ่มเห็นหน้าที่ ที่เปลี่ยนไปของความโป๊ จากอำนาจในหมู่บุรุษ กลายมาเป็นอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อมวลชลวงกว้างได้มากขึ้น กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นใจแบบศิลปินยุคใหม่ไม่แคร์ใคร การเล่นหูเล่นตา หรือเนื้อร้องแบบติดเรทเล็กๆ ส่งผลกระทบต่อแฟนเพลงผู้หญิงด้วยกันเองว่าเธอคนนี้ช่างแซ่บจริง เออนางแรง นางมั่นดีนะ ก็กลายเป็นสิ่งที่ขายได้เป็นลำดับต่อไป เอ็มวีในยุค 2000s เป็นต้นมา เราจะเริ่มคุ้นตากับเอ็มวีประเภทที่มีตัวประกอบเป็นผู้ชายมากมายหลงไหลคลั่งไคล้เธอเป็นบ้าเป็นหลัง นั่นเพราะว่าการแสดงออกถึงอำนาจเหนือผู้ชายนั้นยังคงขายดีเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มคนดูผู้หญิงก็ตาม จะสังเกตเห็นว่านักร้องหญิงที่ไม่ได้เปิดเผยเนื้อหนังมากนัก จะได้รับความสนใจจากเพศชาย (แท้) มากกว่า เช่น Adele, M.I.A หรือ Amy Winehouse เป็นต้น ที่น่าสนใจคือผู้ชายกลับไปปรายตามองเหล่าอิสสตรีที่ดิ้นเร่าๆ อยู่ในสภาพกึ่งเปลือยในเอ็มวีต่างๆ เลยแม้แต่น้อย
ในเมื่อมันเสียกลุ่มผู้ชมเพศชายไป มันจะเสียมูลค่าหลักมหาศาลที่เคยมีอยู่หรือไม่? คำตอบคือไม่แล้วละ ผู้หญิงสามารถอยู่ได้ด้วยลุ๊คแบบนี้ที่ผลิตเองบริโภคเองและยังมีทีท่าว่าจะพัฒนาต่อไปเรื่อย เมื่อเรื่องเพศกลายมาเป็นพู่กันวิเศษที่ผู้หญิงเท่านั้นที่จะรังสรรค์ศิลปะชนิดนี้ได้ เอ็มวี S&M ของรีฮานน่าที่รวมเอาบรรดา Fetish fantasy ทั้งหลายแหล่มาแปะรวมไว้บนตัวเธอเองอย่างไม่สะทกสะท้าน การยอมรับว่าตัวเองคือ sex toy นั่นไม่ใช่หล่อนพอใจจะทำลายคุณค่าของตัวเอง แต่มันหมายความว่าเธอก้าวล้ำไปกว่านั้นมาก มากพอที่จะเอาของพวกนี้มาล้อเล่นต่างหาก แทนที่จะเศร้าใจที่สังคมประณามว่าเป็นวัตถุไร้สมอง เธอกลับเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ตอกกลับไปถึงนักวิจารณ์ทั้งหลายว่า อันที่จริงแล้ว ฉันเนี่ยมันเป็นพวกมาโซนะ ส่วนพวกหล่อน นังนักข่าว หล่อนมันพวกซาดิสม์ ชอบทำร้าย ชอบโจมตี ชอบด่า สารพัดแต่ก็จัดมาเถอะค่ะ เพราะ ไอไหล่กิด ไหล่กิด นานานา คัมม้อนนน
นั่นเป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของศิลปินหญิงที่ใช้เซ็กส์เป็นเครื่องมือ อันที่จริงมีอีกให้พูดตั้งมากมาย จากวัตถุทางเพศสู่การเป็นเพียงอาภรณ์ประดับกายเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่การแสดงให้หวือหวา ดึงดูดตามากขึ้น จนกระทั่งดีวาส์จากยานแม่ เลดี้ กาก้า ได้มาถึง ยานแม่ส่งเธอมาปฎิวัติหนึ่งอย่างคือ ทำ-ทุก-อย่าง-ให้-เป็น-แฟชั่น!! ต่อไปนี้จะไม่มีอะไรที่ใส่ไม่ได้อีก ไม่ว่าจะโป๊หรือแปลกขนาดไหน เพราะเธอจะเอามันมาใส่ให้เป็นเรื่องธรรมดา อันที่จริงกาก้าไม่ใช่นางแรกที่ใส่ชุดแปลกๆ ขึ้นแสดงอย่างที่หลายคนเข้าใจ ยังมีศิลปินหลุดๆ อย่าง Bjork หรือ Grace Jones ที่ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่เหลือเชื่อที่มันถูกมองเป็นศิลปะชั้นสูง เกินเอื้อม ก้าก็เลยจัดแจงทำให้มันติดดิน ช่วยทำคลอดให้มันเข้าสู่วงการป็อปอย่างเป็นทางการแบบที่เราเห็นๆ กัน ความโป๊ของกาก้า เป็นความโป๊ที่ประหลาดพอๆ กับตัวเธอเอง เพราะมันไม่ไ่ด้หอบเอา sexuality มาด้วย แต่มันคือแฟชั่น มันคือการขยายกรอบของเครื่องแต่งกายล้วนๆ เสื้อผ้าที่ก้าใส่ในเอ็มวีต่างๆ มีความหมายในตัวของมันเองในเชิงสัญลักษณ์ที่ต้องอาศัยการตีความแทบทั้งสิ้น จนเหมือนเรากำลังดู Theatre Art บางอย่างอยู่ก็ว่าได้
ในโลกที่ทุกบ้านมีโทรทัศน์ ทุกคนมีสมาร์ทโฟน แต่ยังมีกฎหมายและกติกาทางสังคมที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามแก้ผ้าเดินถนนนะคะ ห้ามทำตัวร่านนะคะ เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า Sexuality ในสื่อนี่แหละที่เป็นตัวปลดปล่อยแฟนตาซีบางอย่างที่ถูกกดไว้ และพวกเราพร้อมที่จะเข้าถึงมันได้ทุกที่ทุกเวลา ในขณะเดียวกันความโป๊ก็เป็นเหตุผลให้แฟชั่นมันสามารถถีบตัวออกไปได้อย่างสุดๆจริงๆ ถ้าเสื้อผ้าอาภรณ์เป็นแค่เครื่องปกปิดร่างกายเฉยๆ มันจะมีเหตุผลอะไรที่จะมาประดิษฐ์ประดอยสร้างเสื้อผ้าแบบใหม่ที่สามารถเล่นกับความรู้สึกคนได้ และเมื่อเราสามารถออกแบบได้ สื่อชนิดไหนล่ะที่จะเอาของหวือหวาขนาดนี้ไปใช้งานจริง ถ้าไม่ใช่ป็อปคัลเจอร์?
และนี่แหละคือการวิเคราะห์เืพื่อหาคำตอบของคำถามที่ค้างคาใจเรามาทั้งหมด เพราะความจริงแล้ว ความโป๊ มันคงไม่สามารถสรุปได้ตื้นๆ แค่ว่าศิลปินไม่มีความสามารถจึงต้องเอาอย่างอื่นมาขายแทน เพราะแต่ละนางที่เอ่ยมานั้น ไม่มีนางไหนเลยที่ได้ชื่อว่าร้องเพลงไม่เป็น เพราะฉนั้นความโป๊ ในน้กร้องหญิง จึงไม่ใช่สิ่งที่น่าเกลียดรังเกียจรังงอนจนต้องปรี่ไปตราหน้าว่าไม่เหมาะสม แต่มันคือสิ่งที่แสดงออกว่าสังคมคมนั้นมีความรู้ความเข้าใจในตัวเอง และมีอิสรภาพพอที่จะบอกมันออกมา
ทุกอย่างมันย่อมมีที่มาที่ไปด้วยกันทั้งนั้นแหละ จริงไหม?