Saturday, May 25, 2013
Fruity Review #8: Daft Punk - Random Access Memories
Daft Punk
Random Access Memories
6/10
ฟังเพลงมาตั้งแต่เด็กจนโตก็มี Daft Punk นี่แหละที่เป็นวง coming-of-age ที่ทำให้บรรลุทางสว่างว่าโลกนี้มันมีอะไรให้ฟังนอกจากอาวริล ลาวีนตั้งมากตั้งมาย ทุกวันนี้ยังจำความรู้สึกคลื่นเหียนวิงเวียนเมื่อครั้งได้ยินเพลง Around the World เป็นครั้งแรกได้เสมอ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน อย่างหนึ่งที่สังเกตได้คือ พี่แกมักจะทำเพลงล้ำกว่าชาวบ้านเขาไปสองสามก้าวเสมอ แถมไม่เคยเหมือนใครและไม่มีใครเหมือน และเชื่อว่าอีมนุษย์อวกาศสองหน่อเนี่ยแหละที่จะเป็นอนาคตของวงการดนตรีเต้นรำต่อไป เพราะไม่ว่าจะเป็นอัลบั้มแรกอย่าง Homework ที่อุดมไปด้วยบีทหนักพัดถล่มย้ำไปย้ำมาเป็นสิบนาที มาอีกทีก็เป็นการ์ตูนเซนต์ไซย่าตาหวานในบรรดาเอ็มวีจากอัลบั้ม Discovery มาอีกทีก็เป็นเบื้องหลังทำเพลงประกอบให้หนังดิสนีย์อย่าง Tron Legacy อีก -- ไม่ว่าจะกี่ครั้งคุณพี่ทั้งสองต่างเป็นตัวแทนแห่งดนตรีไซไฟล้ำยุคสุดจะคาดเดาเสมอ
เมื่อเดือนก่อนตอนเห็นหน้าปกอัลบั้มใหม่นามว่า Random Access Memories ที่ประกอบไปด้วยหัวมนุษย์อวกาศของทั้งสองนางที่ดูเหมือนจะขัดศรีฉวีวรรณให้ดูงดงามมากขึ้น กับฟ้อนต์ลายเซ็นหวัดไหวคล้ายกับหน้าปกอัลบั้ม "คืนผีเฮี้ยน" ของไมเคิล แจ็คสัน ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงความเรทโทรที่ซ่อนเร้นอยู่ในอัลบั้มนี้มาแต่ไกล ไฉนเลยจะแปลกใจเมื่อได้ยินซิงเกิ้ลแรกอย่าง Get Lucky ที่ไหลบ่ามาด้วยคลื่นความเท่ห์แบบฟังกี้ บวกกับคอรัสง่ายๆ ของนายฟาเรล วิลเลียมส์ ดูสบายๆ ไม่ต้องเต้นหัวหกก้นขวิดแข่งกับคนอื่นให้เสียชาติเกิด ดูจะเป็นแนวทางที่ดีสำหรับอัลบั้มใหม่ของดาฟท์ พังค์ ผู้ที่ได้ชื่อว่าไม่เคยขึ้นตรงต่อกระแสใดๆ
ทุกอย่างเหมือนจะดูดี จนกระทั่งได้ฟังอัลบั้มเต็มจึงได้รู้ว่า Get Lucky คือเพลงที่ "เต้น" ที่สุดแล้ว จ้ะ ถูกต้อง อันนี้คือสนุกที่สุดแล้วจริงๆ เพราะในอัลบั้มนี้พี่เขายกเครื่องเก่าทิ้งทั้งหมด ไม่มีแล้วเพลงอย่าง One More Time หรือ Harder, Better, Faster, Stronger เพราะเขาได้นักดนตรีเก่งๆ ระดับตำนานมาเรียบเรียงดนตรีให้กันเป็นทิวแถวตั้งแต่นีล ร็อดเจอรส์ ตำนานกีตาร์จากยุค 70s ไปจนถึงจูเลียน คาซาบลังกา แห่ง The Strokes รวมไปถึงคุณปู่จอรโจ มอรอเดอร์ ที่แทบจะเรียกว่าเป็นบิดาแห่งเพลงอิเล็กโทนิกเลยก็ว่าได้ เห็นเพื่อนร่วมงานแน่นสู้ตายขนาดนี้ แน่นอนว่าเรื่องฝีมือไม่ต้องห่วง ห่วงแต่ว่าที่ว่ามาทั้งหมดนั่นหมายความว่า RAM จะเต็มไปด้วยเครื่องดนตรีสดเกือบทั้งหมด และแทบจะไม่เหลือพื้นที่น้อยๆ สำหรับเพลงเฮ้าส์ได้ตกถึงหูคนฟังเลย
เปิดตัวพุ่งหลาวด้วยอินโทรกีตาร์น่าตื่นเต้นใน Give Life Back to Music ชื่อเพลงอวดอ้างสรรพคุณกันสุดฤทธิ์สุดเดช แต่น่าเสียดายที่ความน่าตื้นเต้นในเพลงนี้มันค่อยๆ เหือดหายไปพร้อมๆ กับอินโทรที่จบลง The Game of Love ฟังดูคล้าย Something About Us ในอัลบั้มก่อน อันที่จริงในอัลบั้มนี้ แทบทุกเพลงฟังดูเหมือน Something About Us หมดเลย เพียงแต่มันเปลี่ยนประเด็นไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง ดีหน่อยคงเป็น Within ที่ดูเศร้าสลดหมดหนทาง เปียโนมืดมนแต่สวยงาม รำคาญก็แต่อีเสียงร้อง vocoder เนี่ยแหละ วุ้ย! Lose Yourself to Dance อันนี้ได้ยินเสียงฟาเรลแล้วตกใจนึกว่าคุณปู่ Earth, Wind & Fire มาเอง จะฟังกี้ไปไหนพ่อคุ๊ณณ ถ้าให้เลือกแทร็กที่หนักไปทางฟังค์ที่ดีที่สุดขอเลือกเป็น Fragment of Time ที่เรียบง่าย ไม่หวือหวา แต่ฟังเพลินกว่าเพลงอื่นเป็นไหนๆ -- มาถึงแทร็คที่คนพูดถึงกันมากที่สุดอย่าง Giorgio by Moroder หนึ่งเพลงกับตำนานอิเล็คโทร เป็นคุณปู่พูดไปแล้วซักสองนาที ก่อนที่ปู่จะทำเก๋ launch ออกมาเป็นซินธ์ไซเซอร์ยุคโบราณอย่างกับฟัง Kraftwerk เก๋าจริงต้องแบบนี้ แล้วค่อยเพิ่มเครื่องดนตรีเข้ามาทีละชิ้นไปจนครบเก้านาที ถือว่าเท่ห์ไม่เบา หากตัดอีตอนพูดเรื่องนอนบนรถสองนาทีแรกไปจะดีมาก ส่วนเพลงอื่นๆ ในอัลบั้ม บอกตามตรงว่าค่อนข้างผิดหวัง พยายามฟังซ้ำหลายรอบ ก็ไม่ได้ทำให้เข้าใจมันมากขึ้น รังแต่จะจมลงไปสู่ความซ้ำซากไปกันใหญ่ แทร็คที่เกินคาดและกลายเป็นเพลงที่เด็ดที่สุดสำหรับเรากลับเป็น Contact เพลงปิดอัลบั้ม ที่ดึงเอาเสียงจริงจากนักบินอวกาศมาเรียบเรียงคู่ไปกับ Progressive House สไตล์ดาฟท์ พังค์ที่หาใครเลียนแบบได้ยาก
ถามว่า RAM ยังล้ำอยู่ไหม? ถึงแม้ว่าจะย้อนกลับไปทำเพลงยุค 70s แบบที่มีให้เห็นทั่วไป ตอบเลยว่าก็ยังล้ำกว่าชาวบ้านเขาอยู่ เพราะมันคือการคิดแบบสลับขั้ว หอบเอาเทคโนโลยีเครื่องไม้เครื่องมือยุคปัจจุบันกลับไปสู่ยุคมอรอเดอร์ แล้วทำมันออกมาในแบบที่เฉพาะตัวสุดๆ ถ้าสมัยนั้น I Feel Love ของ Donna Summer มีอุปกรณ์อย่างที่ดาฟท์ พังค์มี เพลงที่บุรุษและชะนีเต้นกัน Studio 54 แทบแตกก็จะมีหน้าตาประมาณอัลบั้มนี้แหละ
สำหรับอัลบั้มนี้เป็น Love it or hate it ของจริง คือถ้าชอบก็ชอบ ถ้าเกลียดนี่คือเป็นเนื้อร้ายไปเลย สำหรับเรานี่คือข้อหลัง หลายคนอาจจะชอบรูปแบบใหม่และฝีมือของนักดนตรีดังๆ ท่อนโซโลเนี้ยบๆ เท่ห์ๆ และศิลปินก็มีสิทธิที่จะลองอะไรใหม่ๆ ไปตามความเชื่อของเขา อันนี้ต้องเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันคนฟังก็มีสิทธิที่จะชอบหรือไม่ชอบไปตามรสนิยมของเขา ซึ่งบอกเลยว่าเราไม่ได้มาสายนี้ตั้งแต่แรกแล้ว ดาฟท์พังค์ สำหรับเราคือเพลงเต้นเท่ห์ๆ ที่หาจากที่ไหนไม่ได้ วงอิเล็คโทรในตำนานที่เปลี่ยนเพลงแดนซ์ให้มีชีวิตชีวา สิ่งที่ขาดหายไปคือเพลงมันส์ๆ แบบเมื่อก่อน ทุกวันนี้มันดูหยิ่งๆ เหมือนประมาณว่าถ้าฉันเป็นหุ่นยนต์ก็เป็นหุ่น Futura ในหนัง Metropolis ไม่ใช่ไอรอนแมนดาดๆ อย่างพวกเอ็ง อะไรประมาณนั้น คือมันดูหรูหรา มีรสนิยม เกินเอื้อมมากๆ แต่มันจะมีความหมายอะไร หากนี่คืออัลบั้มเต้นรำที่ไม่มีเพลงไหนเต้นได้เลย...จริงไหม
Like Daft Punk? Try this: Justice, The Chemical Brother
Like This Album? Try this: Anoraak, Earth Wind and Fire, "The Darkside of the Moon" by Pink Floyd
Subscribe to:
Posts (Atom)
Blog Archive
About Me
- Harmish Muszid
- my name is mish my favorite color is turquoise when i grow up I want to be an architect